"หลวงพ่อทอง" วัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง..21..นิ้วและสูง..29..นิ้ว…ปิดทองคำเปลวอร่ามทั้งองค์ ไม่มีหลักฐานระบุสร้างปีใด ใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานเอ่ยถึง โดยเรื่องที่ ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด มีรายละเอียด ดังนี้ มีพระสงฆ์ 2 รูป สามเณร 1 รูป ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน และมีฤทธิ์เดชเวทมนต์แรงกล้ามาก ทั้ง 3 ได้ทดลองวิชา โดยรูปแรกได้ทำน้ำมนต์ไว้และสั่งรูปที่2ว่า"เดี๋ยวจะกระโดดลงน้ำแล้วจะกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา แล้วให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปก็จะกลับเป็นพระสงฆ์ตามเดิม" แต่เมื่อกระโดดลงไปแล้วลอยขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป รูปที่ 2 ก็ไม่รดน้ำมนต์ให้ โดยบอกว่า "เมื่อพี่ทำได้เราก็ทำได้" และได้สั่งให้สามเณร รดน้ำมนต์ให้ แล้วก็กระโดดลงน้ำ กลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา ด้านสามเณร เมื่อเห็นว่า พระทั้ง 2 รูปทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน จึงกระโดดลงน้ำแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ โดยที่ไม่มีใครนำน้ำมนต์รดให้ จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำอยู่เช่นนั้น ต่อมาได้แสดงอภินิหาร โดยลอยทวนน้ำไปขึ้นที่ ช.พัน 2 ทหารช่างอยุธยา ภายหลังเรียกว่า คุ้ง 3 พระทวน ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น สัมประทวน ช่วงเวลาต่อมา ได้ลอยน้ำโดยเอาเศียรวน ไปอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเห็นและมีผู้นำสายสิญจน์ไปผูก พร้อมปลูกศาลเพียงตา อาราธนาอัญเชิญองค์กลางขึ้น ไว้ได้ 1 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่วัดโสธรวราราม มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อโสธร" จ.ฉะเชิงเทรา เหลืออีก 2 องค์ ลอยมาโผล่ที่ชายทะเลแถบ จ.สมุทรสงคราม ชาวบ้านจึงได้ใช้เชือกจำนวน 3 เส้น ผูกพระพุทธรูปเพื่อดึงขึ้นฝั่ง แม้จะใช้คนจำนวนมาก ก็ไม่สามารถดึงขึ้นได้ จนเชือกขาดทั้ง 3 เส้น พระพุทธรูปจึงจมน้ำหายไป ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกบริเวณนั้นว่าสามเส้นและต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นสามเสน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2302 สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรีได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสง-คราม ใกล้กับวัดบ้านแหลมหรือวัดเพชรสมุทร ซึ่งวัดนี้ในอดีตมีชื่อว่าวัดศรีจำปา ระหว่างที่ชาวประมงได้ออกเรือหาปลา ได้ลากอวนไปติดพระพุทธรูป 2 องค์ โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบนั่งและอีก 1 องค์ เป็นแบบยืน จึงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปปางยืน ไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ต่อมา ชาวบ้านได้เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" ส่วนอีก 1 องค์ ซึ่งเป็นปางนั่งสมาธิได้มอบให้ชาวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นพี่น้องในย่านน้ำเดียวกัน ชาวบางตะบูน จึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเคราและเรียกชื่อพระพุทธรูปว่า"หลวงพ่อวัดเขาตะเครา" พระมงคลวชิราจารย์ เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา ได้เล่าถึงที่มาของชื่อหลวงพ่อทองแห่งวัดเขาตะเคราว่า เดิมชาวบ้านจะเรียกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นที่เคารพบูชาของชาวประมงเป็นอย่างมาก แต่ได้มาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ขึ้น เมื่อกลางคืนวันที่ 24 กันยายน 2527 ขณะที่อาตมาจำวัด ได้ฝันว่ามีพระอายุมากรูปหนึ่งนำถุงบรรจุทองคำยื่นให้พร้อมกับพูดว่าเอาไปหลังจากนั้นก็หายไป ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2527 ได้เกิดไฟลุกไหม้ท่วมองค์หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ขณะนั้นประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ ขณะไฟลุกไหม้ทำให้ทองคำหลอมไหม้ไหลออกมาจากองค์หลวงพ่อทอง เมื่อนำทองคำทั้งหมดมาชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้น้ำหนักถึง 9 กิโลกรัม 9 ขีด หลวงพ่อจึงได้นำเอาทองไปจัดทำเป็นลูกอมทองไหลหลวงพ่อทอง แล้วแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนนำไปติดตัวและบูชา ได้ปัจจัยมาทั้งหมด 11 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างมณฑป โรงเรียน และ ศาสนสถานอื่นๆ ต่อมาได้เกิดปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด ทำให้ประชาชนเคารพศรัทธามากขึ้น และเรียกหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ตลอดมาถึงปัจจุบัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น